f
title
แขวงทางหลวงมุกดาหาร
Mukdahan Highway District
วิสัยทัศน์ : ทางหลวงปลอดภัย เพลินใจสองข้างทาง ก้าวย่างสู่สากล ประชาชนเป็นสุข
ศักดิ์สยามเดินหน้า Kick off อนุญาตให้รถวิ่งได้ 120 กม./ชม. เปิดเส้นทางต้นแบบ “ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ช่วงบางปะอิน – ต่างระดับอ่างทอง”
ลงวันที่ 07/04/2564

ศักดิ์สยามเดินหน้า Kick off อนุญาตให้รถวิ่งได้ 120 กม./ชม. เปิดเส้นทางต้นแบบ “ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ช่วงบางปะอิน – ต่างระดับอ่างทอง”

วันนี้ (1 เม.ย.64) เวลา 14.00 น. บริเวณ หมวดทางหลวงบางปะอิน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธี “เริ่มต้นใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน-ทางต่างระดับอ่างทอง)” ร่วมด้วยนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง โดยมี นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม องค์กรปกครองท้องถิ่น และสื่อมวลชนร่วมงาน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายการปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์ จากความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เฉพาะถนนที่ได้มาตรฐานตามที่กฎกระทรวงกำหนด มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป ไม่มีจุดกลับรถระดับราบ มีเกาะกลางถนนแบบกำแพงกั้น และมีความปลอดภัยด้านวิศวกรรมสูง โดยที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้เตรียมการนโยบายนี้มาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นผลสำเร็จ และประกาศกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วฉบับใหม่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยเส้นทางแรกที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คือ ทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน ถึง ทางต่างระดับอ่างทอง เพื่อให้ผู้ขับขี่ได้ใช้อัตราความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ที่สำคัญคือ มีความปลอดภัยสูง โดยกระทรวงคมนาคมยังได้สั่งการและเน้นย้ำให้กรมทางหลวงปรับปรุงเพิ่มมาตรฐานทางกายภาพให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ได้แก่ เสริมการก่อสร้างอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างทาง (Concrete Barrier) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงเนื่องจากการเสียหลักตกเกาะกลาง ปรับปรุงจุดกลับรถระดับราบ เพื่อลดการตัดกันของกระแสจราจร ติดตั้งป้ายจราจรและป้ายเปลี่ยนข้อความได้เพื่อสื่อสารการใช้ความเร็วที่เหมาะสมในแต่ละช่องจราจร รวมทั้งติดตั้งแถบเตือน Rumble Strips เพื่อแจ้งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดการเข้าเขตควบคุมความเร็ว โดยเส้นทางนี้ ถือเป็น “ต้นแบบ” ของทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบท โดยกรมทางหลวงมีแผนจะประกาศใช้สายทางในระยะที่ 2 ภายในเดือนสิงหาคม 2564 นี้ ครอบคลุมเส้นทางในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ระยะทางประมาณ 260 กิโลเมตร เช่น ทางหลวงหมายเลข 32 ช่วง อ่างทอง - สิงหบุรี ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงหางน้ำหนองแขม - นครสวรรค์ ทางหลวงหมายเลข 2 ตอนบ่อทอง-มอจะบก และทางหลวงหมายเลข 4 ช่วง เขาวัง-สระพระ เป็นต้น พร้อมทั้งดำเนินการต่อเนื่องเพิ่มเติมบนทางหลวงสายหลัก เช่น ทางหลวงหมายเลข 1 พหลโยธิน ทางหลวงหมายเลข 2 มิตรภาพ ทางหลวงหมายเลข 24 สีคิ้ว-อุบลราชธานี ทางหลวงหมายเลข 340 บางบัวทอง -สุพรรณบุรี และทางหลวงหมายเลข 44 กระบี่-ขนอม อีกประมาณ 1,760 กิโลเมตร ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวงได้คัดเลือกเส้นทางนำร่อง คือ

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 บางปะอิน - พยุหะคีรี (ช่วงอยุธยา – อ่างทอง) ระหว่าง กม. 4+100 ถึง กม. 50+000 ทั้งขาเข้าและขาออก ระยะทาง 45.9 กิโลเมตร แบ่งการใช้ความเร็วเป็น 3 ระดับ คือ ช่องซ้ายสุด ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่องกลางไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยในช่องขวาขับขี่ไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อให้ผู้ขับขี่ที่ใช้ความเร็วแตกต่างกันในเส้นทาง ใช้ทางสาธารณะร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นเส้นทางแรก

กรมทางหลวงยังได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องหมายจราจรต่าง ๆ ในเส้นทางที่กำหนด เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้ทาง เช่น ติดตั้งสัญลักษณ์กำหนดความเร็วบนพื้นถนน รวมทั้งติดตั้งกล้องวงจรปิดและอุปกรณ์ตรวจจับความเร็ว โดยผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถติดตามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Website กรมทางหลวง (www.doh.go.th) แฟนเพจกรมทางหลวง และ Call Center 1586

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวตอนท้ายว่า การกำหนดอัตราความเร็วรถเป็น 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนถนนสายเอเชียนั้น จะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดและปัญหาอุบัติเหตที่เกิดจากการชนท้ายหรือการเปลี่ยนช่องจราจร อันเนื่องมาจากรถวิ่งด้วยความเร็วที่แตกต่างปะปนกันไป ไม่เป็นระเบียบ อีกทั้งยังทำให้ถนนสายเอเชียในอนาคตจะไม่มีจุดกลับรถระดับราบ ส่งผลให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเดินทางได้อย่างรวดเร็ว สะดวก และปลอดภัยตลอดเส้นทาง และขอให้พี่น้องประชาชนศึกษาข้อมูลเส้นทาง และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยลดปัญหาอุบัติเหตบนท้องถนนในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน

#กรมทางหลวง

#กระทรวงคมนาคม

#เดินทางอุ่นใจปลอดภัยไปกับกรมทางหลวง

#สายเดินกรมทางหลวง1586

#ใช้ความเร็ว120กิโลเมตรต่อชั่วโมง


'